ลักษณะของเท้ายายม่อม
- ต้นเท้ายายม่อม จัดเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ส่วนที่อยู่เหนือดินมีความสูงได้ถึง 1.5 เมตร มีหัวใต้ดินสะสมอาหาร (ใช้ทำแป้ง) ลักษณะของหัวเป็นรูปกลม กลมแบน หรือรูปรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-4 นิ้ว ผิวด้านนอกบางเป็นสีน้ำตาล เนื้อในหัวเป็นสีขาวใส ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดหรือการแยกหัว มีเขตการกระจายพันธุ์กว้างตั้งแต่แอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หมู่เกาะแปซิฟิก ไปจนถึงออสเตรเลีย ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นกระจายแบบห่าง ๆ และพบขึ้นหนาแน่นในบางพื้นที่ ยกเว้นทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยจะขึ้นใต้ร่มเงาในป่าดิบแล้งระดับต่ำ ป่าผลัดใบ ดินเป็นดินทราย และตามป่าชายหาด
- ใบเท้ายายม่อม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับเวียนออกเป็นแนวรัศมี ใบมีขนาดใหญ่และเว้าลึก เป็นรูปฝ่ามือ ปลายแยกออกเป็นแฉก 3 แฉก แต่ละแฉกขอบมีลักษณะเว้าลึก ใบรูปฝ่ามือมีขนาดกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร และยาวประมาณ 120 เซนติเมตร ก้านใบรวมกาบใบยาวประมาณ 20-170 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ก้านใบเป็นสีดำแกมเขียว
- ดอกเท้ายายม่อม ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่ม แทงช่อสูงออกมาจากหัวที่อยู่ใต้ดิน ดอกจะออกที่ปลายยอด ก้านดอกเป็นสีม่วงอมเขียวมีลาย ช่อดอกจะมีประมาณ 1-2 ช่อ มีความยาวได้ถึง 170 เซนติเมตร แต่ละช่อจะมีดอกประมาณ 20-40 ดอก กลีบรวมเป็นสีเขียวอมเหลือง หรือสีเขียวอมม่วงเข้ม ปลายกลีบแหลม โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด เชื่อมติดกันเป็น 6 กลีบ เรียงเป็น 2 วง วงในเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร ส่วนวงนอกเป็นรูปรีหรือรูปใบหอก ยาวประมาณ 0.4-0.7 เซนติเมตร แผ่นกลีบประดับเป็นสีเขียมเข้ม มีประมาณ 4-12 อัน เรียงเป็น 2 วง มีขนาดเกือบเท่ากัน ลักษณะเป็นรูปไข่ รูปใบหอก หรือรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 2.5-10 เซนติเมตร มีชั้นใบประดับสีดำหรือสีม่วงอมน้ำตาลรองรับ ลักษณะเป็นรูปเส้นด้ายยาวประมาณ 10-25 เซนติเมตร มีประมาณ 20-40 อัน ดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน ปลายแผ่เป็นแผ่น ก้านเกสรเพศเมียสั้น ปลายแยกออกเป็น 3 แฉก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม
- ผลเท้ายายม่อม ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปเกือบกลมหรือเป็นรูปทรงรี ปลายแหลมเรียว ผลห้อยลง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร ผลเป็นสีเขียว ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ขนาดประมาณ 5-8 x 4-6 มิลลิเมตร ที่ผิวเมล็ดมีลาย
หมายเหตุ : ต้นเท้ายายม่อมจะยุบตัวเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ใบจะเหลือง ในช่วงนี้จะเก็บหัวเอาไปทำแป้งและเก็บหัวเล็ก ๆ ไว้ปลูกช่วงเข้าฤดูฝน[4]
สรรพคุณของเท้ายายม่อม
- เหง้านำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงกำลัง (เหง้า)
- หัวเท้ายายม่อมสามารถนำมาใช้ทำแป้งได้ ซึ่งเรียกว่า “William’s arrow root“, “Arrowroot starch” หรือ แป้งเท้ายายม่อม (ชื่อทางการค้าใช้คำว่า “แป้งท้าวยายม่อม“) ใช้เป็นอาหารอย่างดีสำหรับคนไข้ที่ร่างกายอ่อนเพลีย มีอาการเบื่ออาหารหลังฟื้นไข้ โดยจะช่วยทำให้เกิดกำลัง ชุ่มชื่นหัวใจ ร่างกายฟื้นฟูกลับมาแข็งแรงได้เร็ว ส่วนวิธีการใช้นั้นให้นำแป้งมาละลายกับน้ำดิบ ใส่น้ำตาลกรวด ตั้งไฟกวนจนสุก แล้วนำมาให้คนไข้รับประทาน (หัว)
- สำหรับคนทั่วไปการรับประทานแป้งเท้ายายม่อมหรือนำมาใช้ประกอบอาหารจะมีสรรพคุณเป็นยาทำให้เจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ช่วยทำให้จิตใจชุ่มชื่น แก้อาการอ่อนเพลีย แก้ร้อนใน และช่วยสมานแผลในกระเพาะอาหาร (หัว)
- นักโภชนบำบัดสมัยใหม่ระบุว่าแป้งเท้ายายม่อมมีคุณสมบัติที่เหมาะกับระบบทางเดินอาหารของมนุษย์เรามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับแป้งชนิดอื่น ๆ อีกทังยังเชื่อว่าการบริโภคแป้งชนิดนี้จะช่วยทำให้อารมณ์และจิตใจมีความสมดุล ไม่วิตกกังวลหรือซึมเศร้าจนเกินไปได้อีกด้วย (หัว)
- ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากเป็นยาแก้ไข้ (ราก)
- ใช้เป็นยาขับเสมหะ (ราก)
- ชาวฮาวายจะใช้หัวเท้ายายม่อมนำมาผสมกับน้ำและดินเคาลินสีแดง (red clay) ใช้กินเป็นยาแก้อาการท้องเสียและบิด ใช้หยุดเลือดในกระเพาะและลำไส้ (หัว)
- รากใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาเย็น หรือเผาให้ร้อนเอาผ้าห่อ นั่งทับแก้ไส้เลื่อน (ราก)
- แป้งที่ได้จากหัวสามารถนำใช้โรยบริเวณปากแผลเพื่อช่วยห้ามเลือดได้ (หัว)
- หัวหรือรากนำมาฝนกับน้ำมะนาวใช้ทาเป็นยาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย พิษผึ้ง พิษจากแมงกะพรุนไฟ (หัว,ราก)
- หากเป็นผดผื่นคัน ให้ใช้แป้งเท้ายายม่อมละลายกับน้ำแล้วนำมาใช้ทาบริเวณที่เป็น (หัว)
- ใช้เป็นยาพอกฝีแผล ช้ำ ถอนพิษ ด้วยการใช้แป้งเท้ายายม่อมนำมานวดกับน้ำอุ่นให้พอเป็นยางเหนียว ๆ แล้วใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็น (หัว)
- แป้งใช้โรยในถุงเท้าเพื่อป้องกันเชื้อราที่เท้าได้เป็นอย่างดี (หัว)
บทความจาก frynn.com