หากพูดถึงร้านชาบูในหาดใหญ่ หลายๆคนคงมีตัวเลือกมากมาย ทั้งในห้างหรือนอกห้าง แต่หากจะหาแบรนด์ที่เป็นแบรนด์ Local ของคนท้องถิ่นโดยแท้อาจมีไม่มาก วันนี้ผมมีโอกาสได้พูดคุยแบบ Exclusive กับเจ้าของร้าน “I YA SHABU” ที่ตอนนี้มีคนแชร์กันตรึม เลื่อน Feed Facebook ไปทางไหนก็เห็นแต่คนแชร์ แชร์ทำไม แชร์เพราะอะไร ทำไมต้องแชร์ ตามผมมาคุยกับพี่ต้นดีกว่าครับ
จุดเริ่มต้นของร้าน I YA SHABU (ไอย๊ะ ชาบู)
คุณมนตรี พัวสันติกุล หรือ คุณต้น ได้เล่าให้ผมฟังว่าธุรกิจร้าน ไอย๊ะชาบู เป็นธุรกิจร้านอาหารแรกเลยในชีวิตก่อนหน้านี้ไม่เคยทำธุรกิจอะไรเกี่ยวกับอาหารมาก่อนเลย เมื่อก่อนก็ขายเสื้อผ้าและทำงานธนาคาร ถือว่าคนละขั้วเลย ตอนนี้ร้าน I YA SHABU ก็มีอายุได้ครบปีพอดี จริงๆแล้วคุณต้นเล่าว่าตัวเองเป็นคนชอบกินไปกินทุกๆที่ และชอบทำอาหารกินกันที่บ้าน ด้วยนิสัยและความชอบส่วนตัวเวลาไปกินก็จะคิดอยู่ตลอดว่าอยากได้ร้านที่ตอบโจทย์ตัวเองจริงๆ แต่ยังหาไม่มีเลย ไม่ว่าจะเป็นที่จอดรถ ความสะดวกสบายในร้าน หรืออาหาร ไม่มีร้านไหนที่ตอบโจทย์ได้ครบ จึงตัดสินใจลงมือทำเองพร้อมกับหาทำเล จนมาโดนใจบริเวณ I Style Night Lift Community Mall ที่ตอบโจทย์เรื่องสถานที่ที่กว้างขวาง และมีบรรยากาศอยู่ชั้น 2 ทำให้วิวดี และที่จอดรถรองรับได้เยอะเลยตัดสินใจเลือกที่นี่ แล้วจึงเนรมิตให้เป็นร้านชาบูอย่างใจต้องการเหมือนกินข้าวที่บ้านหลังที่ 2
แล้วต้องคิดอะไรบ้างครับกว่าจะเปิดร้านอาหารได้สักร้าน ?
ไม่ต้องคิดเยอะครับ ไม่ต้องรอความพร้อมให้ครบทุกด้าน ถ้ารอจนกว่าจะพร้อมก็คงไม่ได้เริ่มสักที ค่อยๆทำไปและปรับแก้ไปเรื่อยๆจะดีกว่าพร้อมทีเดียวเพราะคงไม่มีใครพร้อมตั้งแต่แรก วันที่ผมเปิดร้านวันแรกผมยังต้องเรียนรู้จากทุกๆคน ทั้งพนักงาน และลูกค้าทุกคน ลงไปทำเองทุกอย่างแล้วประสบการณ์จะค่อยๆสอนเราไปทีละนิดครับ
ร้านเราอยู่ลึกขนาดนี้ทำยังไงให้คนรู้จักร้านเราครับพี่ ยิ่งเปิดใหม่ด้วย (ปัญหา)
เปิดร้านแรกๆเส้นถนนเส้นนี้เป็นเส้นที่คนไม่ผ่านมาเลยเรียกได้ว่าลูกค้าต้องเจาะจงมาเท่านั้นเลย บางครั้งร้านเรากว้างก็เป็นปัญหาตรงที่ว่าลูกค้าไม่เต็มร้านไม่แน่นร้าน คนมาแล้วไม่เห็นลูกค้าโต๊ะอื่นนั่งกิน หรือเห็นไม่กี่โต๊ะ อาจคิดไปว่า ของไม่สด ไม่อร่อย เลยไม่มีคนเยอะ ช่วงแรกๆหลายคนอาจคิดว่าเปิดร้านแรกๆต้องเงียบเป็นธรรมดา รอปากต่อปากไป แต่สำหรับพี่ต้นคงไม่รอ โจทย์มีอยู่ทำยังไงให้คนในหาดใหญ่รู้จักร้านเรามากที่สุดและเร็วที่สุด ยุคนี้ไม่ใช่ 30 ปีที่แล้วที่จะเปิดร้านอาหารอะไรก็ได้แล้วก็รอให้คนเดินเข้ามากินเอง ยุคนี้เป็นยุคที่มีร้านเปิดขึ้นมามากมาย ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้นกว่าสมัยก่อนหลายสิบเท่า
แล้วพี่ทำยังไงหละครับ ?
พี่ตั้มได้เล่าต่อว่า ร้านใช้การตลาดที่ใช้ก็คือ Social ทั้ง 100% เลยช่วงแรกๆยอมรับว่าใช้ไม่เป็นสักอย่างแต่ก็ต้องศึกษาและพัฒนาไปเรื่อยๆ เรียนรู้พัฒนาจนตกผลึก Social Network ก็เหมือนกันกับปากต่อปากสมัยก่อน แต่เพียงเปลี่ยนรูปแบบมาอยู่ในยุคปัจจุบัน ทำยังไงให้คนพูดถึงเรามากขึ้น ทำยังไงให้เราเป็นตัวเลือกของเค้าให้ได้ และทำยังไงให้เขากลับมากินซ้ำๆ อีกครั้งนึง นี่แหละครับที่ต้องคิด บางคนทำวิธีเหมือนกันก็ได้ผลไม่เหมือนกันท้ายที่สุดแล้วเลือกวิธีที่คิดว่าตัวเองถนัดที่สุดครับ
- ใช้ Social Network จัดกิจกรรมกระตุ้นบ่อยๆให้ลูกค้ามีส่วนร่วม , ทำให้ลูกค้าเช็คอิน
- Branding ทำให้แข็งแกร่งให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ทำยังไงก็ได้ให้เราเป็น Choice ของเค้า
กลยุทธ 4 ดี ของพี่ต้น ที่ใช้จัดการร้าน
ปกติเราจะได้ยิน 4 P บ้างแต่นี่ 4 ดีลองมาดูกันครับว่ามันคืออะไรแล้วใช้ยังไง
- ดีแรก คืออาหาร คุณภาพอาหารต้องสดใหม่เสมอ น้ำจิ้มต้องอร่อยเป็น Signature
- ดีที่สอง บรรยากาศดี สถานที่ดี นึกเสมอว่าให้เค้ามากินเหมือนนั่งกินอยู่ที่บ้าน
- ดีที่สาม การบริการที่ดี มองให้ออกว่าเราไปกินที่อื่นเราต้องการบริการยังไง แล้วเอามามอบให้ลูกค้า
- ดีที่สี่ การบริหารทีดี บริหารจัดการภายในร้านทุกๆส่วน ดึงศักยภาพแต่ละคนออกมาให้สูงสุด
เป้าหมายในอนาคตของ I YA SHABU
เป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนแรกที่เปิดร้านนี้คือต้องการขยายแฟรนไชส์ ตอนนี้ก็เริ่มมีเพื่อนๆ หรือคนอื่นจากต่างจังหวัด และกทม.ติดต่อมาพอควร เหลือแค่รอคิดรายละเอียดและระบบการทำงานให้ดีก็พร้อมจะลุยต่อไปในอนาคตได้เลยครับ
ข้อคิดดีๆจากพี่ต้น
- ไม่มีอะไรที่เราทำไม่ได้ ถ้าเราคิดจะทำ ทุกคนล้วนเจออุปสรรคและปัญหาทั้งหมดแหละไม่เคยไม่มีใครไมาเจอกับปัญหาหรอกครับ อยู่ที่ว่าเราจะสู้กับปัญหาหรือว่าเราจะหนีปัญหา เพราะถ้าเราหนีปัญหา เราก็จะต้องหนีไปเรื่อยๆทุกครั้งที่เจอปัญหาแบบนี้ หันหน้าสู้กับมันสักตั้งดีกว่านะ
คุยกับพี่ต้นมาพอสมควรได้ทั้งกำลังใจและข้อคิดดีมามากมายเลยทีเดียว ยิ่งคุยยิ่งมีไฟ ชอบสองประโยคที่ว่า “เดินหน้าลุยกับปัญหาทุกครั้งที่เจอ” และ “ทำยังไงก็ได้ให้เราเป็นตัวเลือกของเค้า” ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแนวคิดดีๆที่เราจะนำไปใช้พัฒนาร้านอาหาร ได้เลยนะครับ ลุยๆ